วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปั้น ดิน ให้เป็น เซรามิค อย่าง สวยงาม


เซรามิค

CERAMIC

ภาพ "เซรามิค" ในหนังสือ สารคดี  ฉบับที่ ๒๙  ช่าง สวยงาม ถูกใจนัก  จึงอยาก แบ่งปัน  เนื้อหา เกี่ยวกับ วิธีการ ผลิต  นั้นบ้าง
ส่วนท่านจะรู้สึกยังไง ก็แล้วแต่ รสนิยม ของแต่ละคน  สำหรับผู้ที่สนใจในงาน ปั้น ก็น่าจะช่วยเสริม จินตภาพ  หรือแม้แต่ผู้ที่รักการ  ถ่ายภาพ ก็น่าจะเห็นส่วนที่เป็นประโยชน์ได้   เช่นกัน

เซรามิค ก็คือ เครื่องปั้นดินเผา นั่นเอง  แต่ ขั้นตอน การทำ นั้นมีมากกว่า  ซึ่งผมจะคัดย่อเอามาเฉพาะส่วนที่คิดว่าน่าสนใจมาแบ่งปันกัน


ในการทำเซรามิค  เตาเผานับเป็นหัวใจสำคัญที่สุด  การเผาผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในอุณหภูมิที่ต่างกัน ก็ก่อให้เกิดงานเซรามิคที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเภท เช่น ถ้าเผาในอุณหภูมิประมาณ ๙๐๐-๑๑๕๐ องศาเซลเซียส จะได้งานที่มีเนื้อหยาบค่อนข้างหนาและมีความพรุนตัวสูง  เรียกกันว่าแบบ earthen ware  เช่นงานพวกกระถางต้นไม้  ตุ่มดิน  หม้อดิน  อิฐก่อสร้าง  หากเผาที่ ๑๑๕๐-๑๒๕๐ องศาเซลเซียส  ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ประเภท  stone ware  ที่มีเนื้อแกร่ง ทึบ และความพรุนน้อย เช่น พวกถ้วย ชาม แจกัน ของใช้ต่างๆ ภายในบ้าน  ส่วนการเผาที่อุณหภูมิสูงมากๆ ตั้งแต่ ๑๒๕๐-๑๓๐๐ องศาเซลเซียส ขึ้นไป จะได้งานเซรามิคแบบ porcelain ที่มีเนื้อละเอียดและความแข็งสูงมาก ไม่ดูดซึมน้ำ ทั้งยังโปร่งแสงด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์พวกเครื่องมือวิทยาศาสตร์  ฉนวนไฟฟ้า  หรือเครื่องประดับต่างๆ



ดิน...เป็นวัสดุสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง ที่ผู้ทำงานเซรามิคต้องเข้าใจถึงคุณสมบัติทางธรรมชาติ ที่ให้ความนุ่ม  นวลอบอุ่น  สบาย เป็นกันเอง... จึงสามารถสร้างสรรค์งานที่เหมาะสม  ไม่ขัดแย้งกับลักษณะดั้งเดิมของวัตถุนั้นๆ  ดินที่ใช้ในงานเซรามิคมีมากหลายชนิด  ทั้งดินขาว  ดินเหนียว  ดินทนไฟ ฯลฯ ...  ในการทำชิ้นงาน  สิ่งแรกหลังจากการเตรียมดินแล้วก็คือ  การนวดดินให้ผสมผสานเข้าเนื้อ แล้วจึงนำมาขึ้นรูปที่มีหลายวิธีตามแต่เลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานและเครื่องมือที่มีอยู่  เช่น  แบบวิธีขด  แบบพิมพ์กด  แบบใช้แป้นหมุน  แบบใบมีด  หรือแบบอิสระตามแต่จะคิด

การเคลือบ  เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการทำงานเซรามิค ที่ต้องระวังระวังเป็นพิเศษเพราะเป็นขั้นตอนสุดท้าย หากเกิดผิดพลาด หรือชิ้นงานที่เคลือบไม่สะอาด ชิ้นงานนั้นก็อาจเสียหายจนต้องทิ้งไปเลย ซึ่งเป็นการเสียเวลาและต้นทุนการผลิตไปอย่างน่าเสียดาย  ดังนั้น จึงต้องเอาใจใส่ชิ้นงานที่จะเคลือบให้สะอาด  และควรทำการทดลองเคลือบชิ้นงานเล็กๆก่อน เพื่อจะดูผลของน้ำเคลือบ เนื้อดิน และอุณหภูมิ ว่ามีปัญหาบ้างหรือไม่  หากเกิดการเสียหายจะได้แก้ไขทัน


การเคลือบเซรามิคมีจุดหมายเพื่อป้องกันผิวดินเป็นรูพรุน รั่ว  และเป็นการเพิ่มความงามแก่ชิ้นงาน ให้มีสีสันลวดลาย และความมันแวววาว ตลอดจนความคงทนให้เกิดขึ้น... ในสมัยโบราณ การเคลือบเครื่องปั้นดินเผาใช้ไขสัตว์หรือยางไม้ทาลงบนภาชนะ  แต่ปัจจุบันเราใช้น้ำเคลือบที่มีสูตรผสมทางเคมีต่างๆ  ก่อให้เกิดการเคลือบเป็น ๓ ลักษณะ คือ แบบเคลือบที่ให้ความมันแวววาว สมารถสะท้อนแสงและมองเห็นเนื้อดินที่เคลือบได้  ลักษณะที่สอง เป็นการเคลือบด้าน ให้ผิวเรียบแต่ไม่เป็นมัน  สุดท้ายคือการ     เคลือบทึบที่ปิดบังเนื้อดินได้สนิท

สำหรับวิธีการเคลือบเราอาจนำชิ้นงานที่ยังไม่ได้เผามาชุบน้ำเคลือบแล้วนำไปเผา  หรือใช้น้ำเคลือบพ่น  เทราด  และใช้พู่กันแต่งแต้มบนชิ้นงานก่อนนำไปเผาก็ได้  เราเรียกการเผาเคลือบชนิดน้ีว่า               เผาครั้งเดียว      ส่วนอีกวิธี  อาจใช้งานที่ผ่านการเผาดิบแล้วครั้งหนึ่งมาชุบน้ำเคลือบแล้วไปเผาอีกครั้งหนึ่ง เรียกการเผาเช่นนี้ว่า เผาครั้งที่สอง     หากต้องการให้ชิ้นงานมีสีสัน ลวดลายแปลกตาก็ขึ้นอยู่กับการผสมน้ำเคลือบด้วยสูตรต่างๆ หรือใช้เทคนิคการเขียนลวดลาย หรือควบคุมอุณหภูมิในเวลาเผา  เช่น  การเขียนสีใต้เคลือบ หรือการเขียนสีบนเคลือบตกแต่งชิ้นงาน  ...การเขียนทั้งสองแตกต่างกันตรงที่  การเขียนสีใต้เคลือบจะใช้พู่กันวาดลวดลายลงบนชิ้นงานที่ยังไม่ได้เผาดิบหรือเผาดิบแล้ว จากนั้นนำไปชุบน้ำเคลือบใสเผาอีกครั้งหนึ่ง   การเขียนสีใต้เคลือบ มักนิยมเขียนสีเดียว โดยเฉพาะสีน้ำเงิน  ตัวอย่างที่เรารู้จักดีคือ เครื่องลายคราม  นั่นเอง  ส่วนการเขียนสีบนเคลือบ ต้องวาดลวดลายลงบนชิ้นงานที่เผาเคลือบแล้ว ซึ่งควรเป็นการเคลือบใสขาว  หลังจากแต้งแต้มลวดลายสีสันต่างๆแล้ว ก็นำไปเผาอีกครั้งหนึ่ง  ผลิตภัณฑ์ที่นิยมทำด้วยวิธีนี้คือ  เครื่องเบญจรงค์    ซึ่งมีราคาแพง
.........................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น